ข้อมูลบริษัท
โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์เป็นหนึ่งในบรรดาผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมน้ำตาลของภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยมีนายวิเชียร ตั้งตรงเวชกิจผู้ริเริ่มปลูกอ้อยและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกอ้อยในจังหวัดบุรีรัมย์
56 ปี
ก่อตั้ง
กำลังการผลิต
23,000
ตันอ้อยต่อวัน
ปริมาณอ้อยเข้าหีบ
3,000,000
ตันอ้อยต่อฤดูกาล
บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) (“BRR”) เดิมชื่อ บริษัท โรงงานน้ำตาลสหไทยรุ่งเรือง (2506) จำกัด (ได้รับโอนกิจการมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงงานน้ำตาลสหไทยรุ่งเรือง) จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2506 ด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท เพื่อประกอบธุรกิจโรงงานน้ำตาลทรายแดง ที่จังหวัดบุรีรัมย์
บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) (“BRR”) และบริษัทย่อย เป็นหนึ่งในบรรดาผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมน้ำตาลของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีนายวิเชียร ตั้งตรงเวชกิจ ผู้ริเริ่มปลูกอ้อยและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกอ้อยในจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นกลุ่มบริษัทที่ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขาวสีรำ และน้ำตาลทรายดิบทั้งในและต่างประเทศ นานกว่า 5 ทศวรรษ รวมถึงการนำผลพลอยได้ที่ได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาล เช่น กากอ้อย กากหม้อกรอง และกากน้ำตาล ต่อยอดธุรกิจอย่างครบวงจร ประกอบด้วยธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล ธุรกิจผลิตและจำหน่ายปุ๋ย และธุรกิจบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาอ้อยที่เป็นธุรกิจสนับสนุน
เป้าหมายการดำเนินธุรกิจ
กลุ่มบริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์ มีเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ โดยวางแผนในระยะสั้นและระยาว รวมทั้งเป้าหมายการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์และพันธกิจที่ได้วางไว้
เป้าหมายระยะสั้น
สร้างความมั่นคงด้านผลผลิตและสร้างชีวิตที่ดีแก่ชาวไร่อ้อย
บริษัทตั้งเป้าหมายพัฒนาผลผลิตอ้อยในฤดูการผลิต 2-3 ปีข้างหน้า โดยส่งเสริมการปลูกอ้อย และขยายพื้นที่เพาะปลูกกว่า 250,000 ไร่ เพื่อเพิ่มผลผลิตกว่า 3 ล้านตัน ควบคู่ไปกับการรักษามาตรฐานคุณภาพอ้อยให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงสุด
ในฤดูการผลิตปี 2560/61 บริษัทมีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 3.15 ล้านตัน โดยเพิ่มขึ้นจากฤดูการผลิต ปี 2559/60 ซึ่งมีอ้อยเข้าหีบจำนวน 2.21 ล้านตัน อยู่ประมาณ 940,000 ตัน สำหรับพื้นที่ปลูกอ้อยในปัจจุบัน (ปีการผลิต 2560/61) มีพื้นที่ประมาณ 239,523 ไร่ เพิ่มขึ้นจากฤดูการผลิตปี 2559/60 จำนวน 54,411 ไร่ (ปีการผลิต 2559/60 มีพื้นที่จำนวน 185,112 ไร่) รวมทั้งมีจำนวนชาวไร่คู่สัญญาในปี 2560/61 จำนวน 11,780 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งมีจำนวน 11,023 ราย และในด้านคุณภาพอ้อย ปี 2560/61 มีค่าความหวานของอ้อย (“CCS.”) อยู่ที่ 13.71 และมีผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยที่ 119.88 กิโลกรัม ต่อตันอ้อย
ขยายการลงทุน สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ และพัฒนาธุรกิจผลพลอยได้
ตามที่บริษัทมีแผนการลงทุนผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ (Refined Sugar) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และรองรับปริมาณน้ำตาลที่ผลิตเพิ่มขึ้นโดยเน้นการส่งออกให้กับโรงงานอุตสาหกรรมในต่างประเทศนั้น บัดนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 มีมติอนุมัติโครงการผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ (Refined Sugar) ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงสุด 1,200 ตันต่อวัน และคาดว่าจะติดตั้งเครื่องจักรสำหรับโครงการแล้วเสร็จเพื่อผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ (Refined Sugar) ได้ทันสำหรับฤดูการผลิต ปี 2561/62 โดยโครงการนี้มีมูลค่าการลงทุน 393.75 ล้านบาท
สำหรับธุรกิจพลังงานไฟฟ้าชีวมวล ปัจจุบันบริษัทมีโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้งสิ้น 3 แห่ง ได้แก่ BEC, BPC และ BPP โดย BPP ขายไฟฟ้าให้กับโรงงานน้ำตาล เพื่อรองรับกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลที่เพิ่มขึ้น และหากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (“กฟภ.”) เปิดรอบการเจรจารับซื้อไฟฟ้า บริษัทคาดว่าจะเข้าเจรจาขายไฟฟ้าให้กับ กฟภ. ต่อไป
นอกจากนั้น บริษัทยังได้จัดตั้งบริษัท ชูการ์เคน อีโคแวร์ จำกัด (“SEW”) เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์เครื่องใช้ และอุปกรณ์ต่าง ๆ จากชานอ้อย และเยื่อพืชธรรมชาติชนิดอื่น ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ใน ช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 การดำเนินธุรกิจผลพลอยได้ดังกล่าวสอดคล้องกับปริมาณชานอ้อย (กากอ้อย) ที่เพิ่มขึ้นถึง 900,000 ตันต่อปี เนื่องจากปริมาณอ้อยเข้าหีบที่เพิ่มขึ้น 3 ล้านกว่าตัน อีกทั้ง บริษัทเล็งเห็นโอกาสในการทำธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายทางชีวภาพ มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในแนวโน้มความต้องการของโลกที่เปลี่ยนแปลงการใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้น ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจะเข้ามาแทนที่โฟมและพลาสติกในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น
เป้าหมายระยะยาว
บริษัทมุ่งมั่นรักษามาตรฐานและความเป็นหนึ่งในด้านการบริหารจัดการและควบคุมคุณภาพผลผลิตอ้อย เพื่อผลิตน้ำตาลทราย และผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะบริษัทเข้าใจดีว่าวัตถุดิบคือ ความเสี่ยงสูงสุดของธุรกิจ ดังนั้น หากมีการบริหารจัดการและควบคุมดูแลได้อย่างดีและมีเสถียรภาพ ตลอดจนการพัฒนาระบบและเครื่องมืออย่างต่อเนื่อง จะทำให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
ด้านกิจการโรงงานน้ำตาล บริษัทมีแผนขยายการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคต ตามที่บริษัทได้รับอนุมัติให้จัดตั้งโรงงานน้ำตาลเพิ่มอีก 2 แห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตแห่งละ 20,000 ตัน จากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (“สอน.”) โดยได้จัดตั้งบริษัท โรงงานน้ำตาลชำนิ จำกัด (“CSF”) และบริษัท น้ำตาลทุนบุรีรัมย์ จำกัด (“BSC”) เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจดังกล่าว โดยปัจจุบันโครงการของ CSF อยู่ระหว่าง การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)
นอกจากนี้ บริษัทกำลังศึกษาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เอทานอล และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่สามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ รวมทั้งศึกษาการลงทุนในธุรกิจประเภทใหม่ ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มบริษัทฯ
เป้าหมายการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
การดำเนินธุรกิจขององค์กรให้เติบโตและก้าวหน้าอย่างยั่งยืนนั้น นอกจากความเก่งและความสามารถในการทำกำไรเพียงอย่างเดียวคงมิอาจทำให้องค์กรดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน แต่ต้องประกอบด้วยการดำเนินธุรกิจด้วยหลักธรรมาภิบาลและจริยธรรม การดูแลเอาใจใส่ผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงการเรียนรู้ พัฒนาตนเองและคิดค้นต่อยอดสิ่งใหม่อยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ กลุ่มบริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์ จึงมุ่งมั่นพัฒนา 5 ด้านดังนี้
-
การพัฒนาบุคลากร
บุคลากรเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนา กลุ่มบริษัทฯ จึงให้ความสำคัญในทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรบุคคล ทั้งในด้านการจัดหาบุคลากรให้เหมาะสมกับงาน โดยคำนึงถึงกระบวนการสรรหาพนักงานจากภายในและภายนอกองค์กรที่มีความสามารถเหมาะสมเข้ามาดำรงตำแหน่ง พร้อมทั้งติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดอย่างต่อเนื่อง และการรักษาไว้ซึ่งบุคลากรที่มีความสำคัญ อีกทั้งมีการควบคุมให้พนักงานปฏิบัติตามข้อบังคับบริษัท และ“คู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณธุรกิจ” เพื่อคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย ตลอดจนการทำให้บุคลากรในองค์กรตระหนักรู้ถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และมีส่วนรวมในการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว
นอกจากนั้น กลุ่มบริษัทฯ ได้กำหนด “นโยบายการพัฒนาบุคลากร” ซึ่งรวบรวมอยู่ใน “คู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณธุรกิจ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3” ซึ่งนโยบายดังกล่าวได้ประกาศและนำใช้มาตั้งแต่ปี 2560 โดยมีรายละเอียดดังนี้
-
การพัฒนาเกษตรกรชาวไร่อ้อย
ตามวิสัยทัศน์และพันธกิจที่กลุ่มบริษัทฯ มุ่งมั่นสร้างความมั่นคงด้านผลผลิตและสร้างชีวิตที่ดีแก่ชาวไร่อ้อย ตามปรัชญา “น้ำตาลสร้างในไร่” ดังนั้น กลุ่มบริษัทฯ จึงได้ส่งเสริมและพัฒนาชาวไร่อ้อยให้มีความรู้ในการบริหารจัดการอ้อยทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก การบำรุงรักษา และการเก็บเกี่ยว รวมถึงความรู้ในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้บริหารจัดการอ้อย และการนำคณะชาวไร่อ้อยไปศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำความรู้มาต่อยอดและประยุกต์ใช้ การพัฒนาในด้านนี้ถือเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สามารถเพิ่มคุณภาพและปริมาณผลผลิตต่อไร่ให้แก่เกษตรกร และยังสามารถลดความเสี่ยงในการจัดหาวัตถุดิบและสร้างความมั่นคงด้านผลผลิตให้แก่กลุ่มบริษัทฯได้อีกด้วย
นอกจากนั้น กลุ่มบริษัทฯ ยังมีแนวคิดเปลี่ยนเกษตรกรเป็น “นักธุรกิจชาวไร่” โดยแนวคิดดังกล่าวมุ่งให้เกษตรกรสามารถวางแผนและบริหารจัดการในการเพาะปลูกอ้อยและกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้วยการสนับสนุนองค์ความรู้และการส่งเสริมจากกลุ่มบริษัทฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างให้อาชีพเพาะปลูกอ้อยเป็นอาชีพที่มั่นคง สร้างรายได้ที่ดี มีความสุขในการทำงาน อีกทั้งยังสามารถถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้ และสามารถสืบทอดกิจการจากรุ่นสู่รุ่น
-
การพัฒนางานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยี
ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทฯ ให้ความสำคัญในการพัฒนางานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อนำมาพัฒนา ปรับปรุง และเสริมศักยภาพในการประกอบธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ และเกษตรกรชาวไร่อ้อย กลุ่มบริษัทฯ มีการบริหารจัดการระบบไร่ออนไลน์ (Online) การจัดทำระบบสมาร์ทฟาร์ม (Smart Farm) รวมทั้งระบบจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ แบบ MIS (Management Information System) และระบบแผนที่แปลงอ้อย GIS (Geographic Information System) รวมทั้งนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ เพื่อส่งเสริมการปลูกอ้อย และตรวจติดตามรายแปลงอ้อยได้ตามหลักวิชาการ รวมทั้งสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์ นอกจากนั้น ยังมีงานวิจัยเพื่อป้องกันและกำจัดโรคพืชและศัตรูพืช อาทิ งานวิจัยการควบคุมการระบาดของโรคและแมลง โดยใช้วิธีธรรมชาติและมีการเพาะเลี้ยงศัตรูธรรมชาติ เช่น แตนเบียน เพื่อควบคุมการระบาดของหนอนกออ้อย และเชื้อราเขียว เพื่อกำจัดด้วงหนวดยาว เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการการเกษตรด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และงานวิจัยต่าง ๆ ให้สอดคล้องตามนโยบายเกษตรยุคไทยแลนด์ 4.0 (Thailand 4.0) ของรัฐบาล ที่เน้นเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
-
การพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อม
กลุ่มบริษัทฯ เชื่อว่าการพัฒนาธุรกิจต้องทำควบคู่กับการพัฒนาชุมชน และการรักษาสิ่งแวดล้อม
ด้านการพัฒนาชุมชน : กลุ่มบริษัทฯ มีพันธกิจสำคัญในการยกระดับความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้ดีขึ้น โดยการพัฒนาความรู้และส่งเสริมอาชีพให้แก่คนในชุมชน จัดกิจกรรมศึกษาดูงานเพื่อพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ ตลอดจนช่วยโฆษณาประชาสัมพันธ์และรับซื้อสินค้าจากชุมชน เพื่อจัดทำเป็นของที่ระลึกของกลุ่มบริษัทฯ เพื่อมอบในเทศกาลปีใหม่หรือในโอกาสต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อให้คนในชุมชนสามารถดำรงชีพได้อย่างมั่นคงและมีความภูมิใจในตนเอง นอกจากนั้น ยังพัฒนาและสนับสนุนการศึกษาของบุตรหลานและโรงเรียนในชุมชนรอบสถานประกอบการของกลุ่มบริษัทฯ อีกด้วย
ด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อม : กลุ่มบริษัทฯ ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจากการจัดการภายในโรงงานซึ่งใส่ใจตั้งแต่กระบวนการผลิต และการจัดภูมิทัศน์รอบโรงงาน เป็นต้น นอกจากนั้น ยังได้จัดกิจกรรมรักษาสิ่งแวดล้อม โดยให้ชุมชน หน่วยงานราชการท้องถิ่น และพนักงานของกลุ่มบริษัทฯ เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าว เพื่อความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวกัน และสร้างจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชนร่วมกัน
-
การพัฒนาและบริหารงานด้วยหลักธรรมาภิบาลและจริยธรรม
ความมุ่งมั่นในการพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยหลักธรรมาภิบาลและจริยธรรม เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่กลุ่มบริษัทฯ ให้ความสำคัญและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง กลุ่มบริษัทฯ ดำเนินงานด้วยความโปร่งใส โดยมีการเปิดเผยข้อมูลตามหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อสร้างความเป็นธรรมและเสริมสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างผู้ถือหุ้นทุกราย นอกจากนั้น ยังจัดให้มีระบบการตรวจสอบภายในโดยผู้ตรวจสอบอิสระภายในและภายนอกองค์กร เพื่อความถูกต้องและความโปร่งใสในการดำเนินกิจการ
ในปี 2561 บริษัทได้รับการรับรองฐานะสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition Against Corruption หรือ CAC) เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2561 ทั้งนี้ บริษัทมีความมุ่งมั่นสานต่อการดำเนินตามนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชัน ตลอดจนการสื่อสารและประกาศเรื่องดังกล่าวไปยังคู่ค้าและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมทั้งได้จัดอบรมให้บุคลากรและรณรงค์ภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ได้เปิดช่องทางการแจ้งข้อร้องเรียนและข้อเสนอแนะ (Whistleblowing) เพื่อรับข้อร้องเรียนจากผู้มีส่วนได้เสีย ผ่านกล่องรับความคิดเห็นและทางไปรษณีย์ ซึ่งส่งถึงประธานกรรมการธรรมาภิบาลโดยตรง โดยในปีที่ผ่านมาไม่ปรากฏข้อร้องเรียนจากผู้มีส่วนได้เสีย นอกจากนั้น กลุ่มบริษัทฯ ยังได้ทบทวนคู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณธุรกิจ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ซึ่งประกาศใช้ในปี 2561 และต่อมาได้ปรับปรุงอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 เป็นฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ซึ่งได้เผยแพร่คู่มือดังกล่าวบนเว็บไซต์ของบริษัท
จากความมุ่งมั่นในการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาอย่างต่อเนื่องทำให้บริษัทได้รับผลประเมินระดับ “ดีเลิศ” หรือ “Excellent” โดยมีระดับคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 93 ซึ่งสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของบริษัทจดทะเบียนโดยรวมของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนประจำปี 2561 ซึ่งจัดโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)